นิติธรรมอิสลาม (ijma')

นิติธรรมอิสลาม
อิบรอเฮง    สาและ
PhD.Muamalat Islam. UMT
ความนำ
อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้มนุษย์ทุกคนยึดมั่นในหลักการ และถือปฏิบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ในอัลกุรอาน และอัลซุนนะฮฺ ซึงเป็นที่มาของกฎหมายอิสลามและเป็นครรลองในการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์ทุกคนและก่อนที่เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับอิจมาฮฺ และกียาสซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายอิสลามในอันดับที่สามและสี่ เรามารู้จักกับความหมายหรือนิยามของคำว่ากฎหมายอิสลามเสียก่อน เพื่อเราสามารถเข้าใจลึกซึ้งในประเด็นที่กำลังจะพูดถึงต่อไป
กฎหมายอิสลาม (อัลฟิกฮุล อิสลามีย์) หมายถึง ประมวลหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ตามศาสนบัญญัติซึ่งจัดระเบียบพฤติกรรม วจีกรรมและการทำธุรกรรมทั้งหลายของบรรดาผู้ที่เข้าอยู่ในเกณฑ์บังคับของศาสนา โดยมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรฺอานและสุนนะฮฺตลอดจนบรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติอื่น ๆ
เมื่อเรามาพิจารณาในประเด็นของที่มาของกฎหมายอิสลาม เราจะพบว่าบรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติ (อัลอะดิลละฮฺ อัชชัรฺอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักมูลฐาน (อัลอุซูล) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่ามี 4 ประการ คืออัลกุรฺอาน  อัล-หะดีษ (อัส-สุนนะฮฺ) อัล-อิจญ์มาอฺ เรียกทั้ง 3 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานอันเป็นตัวบทที่มีการรายงานถ่ายทอด (อัลอะดิลละฮฺ อันนักลียะฮฺ) และ อัล-กิยาส ประการที่ 4 ซึ่งเป็นหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญา (อัลอะดิลละฮฺ อัลอักลียะฮฺ)
         นักวิชาการเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง 4 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานในขั้นปฐมภูมิ (อัลอะดิลละฮฺ อัลอะซาซียะฮฺ) และเรียกประเภทอื่น ๆ ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดของบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญาว่า บรรดาหลักฐานสืบเนื่อง (อัลอะดิลละฮฺ อัตตะบะอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักฐานในขั้นทุติยภูมินั่นเอง
อัล-อิจญ์มาอฺ
อัล-อิจญ์มาอฺเป็นที่มาหรือต้นกำเนิดของกฎหมายอิสลามที่รู้กันทั่วหลาย ในบรรดานักการศึกษาอิสลาม ในฐานะที่มาของข้อกฎหมายนอกจากอัลกุรอานและอัลซุนนะฮฺ เพราะบทบาทของอัล-อิจญ์มาอฺสามารถเป็นตัวชี้วัดที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และข้อขัดแย้งต่างๆที่ได้ประสบกับสังคมมุสลิม ในประเด็นที่ไม่มีการชี้ขาดจากอัลกุรอานและอัลซุนนะฮฺ   แต่หลายๆท่านที่เป็นสามัญชนยังไม่เข้าใจความหมายของอัล-อิจญ์มาอฺ และความสำคัญของอัล-อิจญ์มาอฺในกฏหมายอิสลาม
อัล-อิจญ์มาอฺ หมายถึง การเห็นพ้องกันของบรรดานักปราชญ์ทางศาสนา (มุจญ์ตะฮิด) จากประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ในข้อบัญญัติทางศาสนาภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ในยุคสมัยหนึ่งจากบรรดายุคสมัยต่าง ๆ

อาจารย์ณรงค์  ดูดิง   รองประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ได้ให้ทัศนะของ อิจมะอ.  อุลามะอ. ว่าเป็น คำวินิจฉัยของนักปราชญ์หรือผู้รู้ทางศาสนา  ในกรณีที่ไม่มีการบัญญัติอย่างชัดแจ้งในคัมภีร์  อัลกุรอาน  และอัซซุนนะฮ.

จากนิยามข้างต้น เรามาสามรถที่จะสรุปความหมายของอิจญ์มาอฺว่า เป็นคำชี้ขาดจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือนักปราชญ์ทางศาสนาผู้รอบรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับศาสนา หรือหลักปฏิบัติที่ไม่มีการบัญญัติอย่างชัดเจนในอัลกุรอานและอัลหะดิษ แต่คำถามมันอยู่ที่ว่า ประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดที่มีอยู่ทุกวันนี้ สามารถที่จะออกข้ออิจญมาฮฺต่อกรณีต่างๆที่เป็นข้อพิพาทในอิสลามได้ไหม หรือ ประตูแห่งอิจญ์มาอฺยังเปิดอยู่หรือเปล่า  ประเด็นมันอยู่ที่  ข้อจำกัดให้ประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดที่เป็นนักปราชญ์ในสมัยใดสมัยหนึ่งเห็นฟ้องในเรื่องนั้นๆ และไม่มีแม้แต่คนเดี่ยวที่ไม่เห็นด้วย จึงสามารถที่จะออกเป็นข้อกฎหมายในอิสลามได้ในนามของอิจญ์มาอฺได้
มีนักปราชญ์บางท่าน เช่น ท่านอิบนูฮัมซี ( ผู้สนับสนุนลัทธิซอฮีรีย์ ) มีความเห็นว่า อิจญ์มาอฺสามารถกระทำได้ในสมัยของท่านซอฮาบะฮฺ ( สหายของท่านรอซูล ) เท่านั้น ไม่อาจเกิดขึ้นในสมัยหลังจากนั้น เพราะ บรรดาผู้รู้ ได้กระจ่ายตามถิ่นต่างๆที่ห่างไกลและไม่สามารถมารวมตัวได้เพื่อทำการอิจญ์มาอฺต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ นักปราชญ์ส่วนมากเห็นว่าอิจญ์มาอฺสามารถทำได้ทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบันผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้รอบรู้อยู่อย่างกระจัดกระจ่ายตามที่ต่างๆจึงเป็นการยากที่จะมาร่วมกันเพื่อชี้ชัดในประเด็นที่เป็นข้อพิพาท ด้วยเหตุนี้เองท่านอีหม่ามอะห์มัดได้กล่าวไว้ว่า ท่านผู้ใดได้ทำการอิจญ์มาอฺ เขาคนนั้นได้กล่าวเท็จ  คำพูดของท่านอีหม่ามอะห์มัดมีความหมายว่า ใครก็ตามที่อ้างว่าได้ทำการอิจญ์มาฮุหลังจาก ศัตวรรษที่สาม เขาผู้นั้นได้กล่าวเท็จ  เพราะท่านคิดว่าเป็นการยากที่นักปราชญ์จะมีมติร่วมกันในการชี้ขาดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในศาสนาในสมัยนั้น 
จากการที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการอิจญ์มาอฺ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถกระทำได้โดยคนทั่วไป และทำได้ทุกยุคสมัยของอิสลาม  เพราะการที่อิจญ์มาอฺจะได้รับการยอมรับในฐานะต้นกำเนิดของข้อกฎหมายอิสลามต้องครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 5 ประการคือ
1.      ต้องเป็นการร่วมกันทางความคิดของนักปราชญ์ผู้ที่รอบรู้ในเรื่องศาสนาและได้รับการยอมรับในสมัยนั้นๆ และไม่ถือว่าเป็นอิจญ์มาอฺหากองค์รวมความคิดมาจากสามัญชนทั่วไป  และไม่ถือว่า เป็นความขัดแย้งหากเกิดจากความไม่เห็นด้วยของคนสามัญชนธรรมดา.
2.      นักปราชญ์ทังหมดต้องเห็นพ้องตรงกันในประเด็นนั้นๆ ไม่มีแม้แต่คนเดี่ยวที่ไม่เห็นด้วย แม้ในบางทัศนะเห็นว่า ถ้าผู้ที่คัดค้างและไม่เห็นด้วยมีจำนวนน้อย ข้อชี้ขาดนั้นสามารถนำมาปฏิบัติได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นอิจญ์มาอฺ
3.      นักปราชญ์ที่ทำการอิจญ์มาอฺต้องเป็นประชาชาติของท่านนบีมูฮัมหมัดเท่านั้น
4.      การอิจญ์มาอฺต้องกระทำหลังจากที่ท่านนบีมูฮัมหมัดได้สวรรคตแล้ว
5.      การอิจญ์มาอฺ ต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับหลักการศาสนาเท่านั้น  และไม่ถือว่าอิจญ์มาอฺในประเด็นที่เกี่ยวกับหลักความคิด หรือเกี่ยวกับภาษา
อัล-อิจญ์มาอฺ (ตามวิธีการ) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
         1. การเห็นพ้องโดยชัดเจน (อิจญ์มาอฺ-ซ่อรีฮฺ) คือ การที่บรรดานักปราชญ์ทางศาสนามีทัศนะความเห็นทั้งคำพูดและการกระทำพ้องกันต่อข้อชี้ขาดในประเด็นข้อปัญหาหนึ่งที่เจาะจงแน่นอน อาทิเช่น มีการร่วมชุมนุมของบรรดานักปราชญ์ในสถานที่แห่งหนึ่ง นักปราชญ์แต่ละคนได้นำเสนอความเห็นของตนอย่างชัดเจนในข้อปัญหานั้น ๆ และทัศนะของทุกคนก็พ้องกันต่อข้อชี้ขาดของปัญหานั้น หรือการที่มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งตอบปัญหาศาสนาเอาไว้ด้วยทัศนะหนึ่ง แล้วปรากฏว่าการตอบปัญหาศาสนาจากนักปราชญ์ผู้อื่นพ้องตรงกันในข้อชี้ขาดนั้น ปวงปราชญ์ถือว่า อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้เป็นหลักฐานทางศาสนา
         2. การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ (อิจมาอฺ-สุกูตีย์) คือ การที่นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านในยุคสมัยหนึ่งได้กล่าวคำพูดเอาไว้ในประเด็นข้อปัญหาหนึ่ง และนักปราชญ์ผู้อื่นที่อยู่ร่วมสมัยนิ่งเงียบหลังจากที่รับรู้ถึงคำพูดนี้โดยไม่มีการปฏิเสธหรือคัดค้าน อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้นักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกันในการถือเป็นหลักฐานทางศาสนา
            จากการที่ได้อภิปรายในประเด็น อัล-อิจญ์มาอฺ ทั้งความหมาย ประเภท หลักเกณฑ์  และอื่น ต่อไปนี้เรามาเรียนรู้ถึงน้ำหนักของอิจญ์มาอฺในการอ้างอิงในฐานะหลักฐานหนึ่งในกฎหมายอิสลาม  ก่อนหน้านี้เราได้ ทราบแล้วว่าการเห็นพ้อง ( อัล- อิจญมาอฺ ) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทกล่าวคือ การเห็นพ้องโดยชัดเจน และการ เห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ ซึ่งแน่นอนระหว่างสองประเภทนี้มีน้ำหนักการอ้างอิงที่ไม่เท่ากัน
            นักปราชญ์ ( อูลามะฮฺ ) มีความเห็นตรงกันการว่าการเห็นพ้องโดยชัดเจน เป็นหลักฐานในกฎหมายอิสลามที่เชื่อถือได้ และมีความจำเป็นที่ทุกคนต้องยึดถือในคำตัดสินนั้นๆ  และห้ามิให้ผู้ใดกระทำการนอกเนื้อจากนั้นเป็นอันขาด  กลักการปฏิบัติก็คือ เมื่อมีการเห็นพ้องในประเด็นใดประเด็นหนึ่งแล้ว ท่านอูลามะฮฺต้องประกาศให้ผู้คนทั่วไปทราบโดยทั่วกัน เพื่อทุกคนสามารถนำไปถือปฏิบัติ และลงโทษผู้ที่ผ่าพื้นต่อมติ
            ส่วนกลุ่มนิซอม ( ผู้รู้ของมุตาซีเลาะฮฺ )  และส่วนหนึ่งของ คอวาริจ และ ซีอะฮฺ มีความเห็นว่า อัล-อิจญมาอฺ ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิง และไม่ถือว่าเป็นที่มาของกฎหมายอิสลาม
            หลักฐานที่ว่าการเห็นพ้องโดยชัดเจน เป็นหลักฐานในกฎหมายอิสลามที่เชื่อถือได้ตามมติของ นักปราชญ์ ( อูลามะฮฺ ) ส่วนใหญ่ก็คือ ดังที่อัลเลาะฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอาน
ความว่า  และผู้ใดที่ฝ่าฝืนรอซูล หลังจากที่คำแนะนำอันถูกต้องได้ประจักษ์แก่เขาแล้ว และเขายังปฏิบัติตามที่มิใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธานั้น เราก็จะให้เขาหันไปตามที่เขาได้หันไป และเราจะให้เขาเข้านรกญะฮันนัม และมันเป็นกลับอันชั่วร้าย ( อัลกุรอาน 4:115)
ในอายัตอื่นอัลเลาะฮฺได้ตรัสไว้
ความว่า  ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังร่อซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย ( อัลกุรอาน 4: 59 )
            นอกจากนั้นท่านรอซูลได้ตรัสไว้ในหะดิษหนึ่งว่า
ความว่า ประชาชาติของข้าจะไม่เห็นร่วมกันในเรื่องที่หลงผิด  ( หะดิษ รายงานโดย อัลติรมีซี)
            ส่วนประเด็นการเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ (อิจมาอฺ-สุกูตีย์) นั้นมีความคิดเห็นของอูลามะฮฺอยู่สองทัศนะกล่าวคือ
1. นักปราชญ์หรืออูลามะฮฺบางท่าน ( เช่นอีหม่ำซาฟีอี และผู้ยึดถือมัซอับมาลีกีย์) เห็นว่า การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบไม่สามารถเป็นหลักฐานอ้างอิงในกฎหมายอิสลามได้ และไม่ถือว่าเป็นอิจญมาอฺด้วยซ้ำไป เพราะการนิ่งเงียบไม่ได้แสดงถึงการยอมรับโดยเสมอไป อาจจะเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ เช่นไม่ต้องการแสดงความคิดเห็น เกรงใจต่อผู้ที่เห็นด้วย หรือกลัวได้รับอันตรายหากแสดงความคิดเห็นออกมา
2. นักปราชญ์หรืออูลามะฮฺส่วนมากเห็นว่า การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบสามารถเป็นหลักฐานอ้างอิงในกฎหมายอิสลามได้ เพียงแต่มีความเห็นที่แตกต่างในประเด็นที่ว่า มันเป็นหลักฐานที่ชัดเจน หรือครุมเครือ       อูลามะฮฺสายสายอานาฟี และท่านอีหม่ำอาห์มัด บิน ฮันบัล เห็นว่าสถานะของการเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบเสมือน การเห็นพ้องโดยชัดเจน   ส่วนอูลามะฮฺท่านอื่นๆเห็นว่า การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ เป็นเพียงหลักฐานที่ครุมเครือ และไม่แจ่มแจ้ง ไม่สามารถเป็นข้อกฎหมายได้
ความเป็นไปได้ของอัลอิจญมะอฺ  ณ เวลาปัจจุบัน
            เนื่องจากอัลกิจญมะอฺเป็นต้นกำเนิดและที่มาของข้อกฎหมายในอิสลาม  ซึ่งเป็นการเห็นพ้องของประชาชาตินบีมูฮัมหมัด หลังจากที่ท่านได้สวรรคตแล้ว ต่อกรณีใดๆที่ไม่ปรากฏหลักฐานในอัลกุรอานและอัลซุนนะฮฺที่ชัดเจน
            หลังจากที่ได้ไตร่ตรองถึงความหมายและหลักเกณฑ์ของอัลอิญมะอฺแล้ว อาจจะสรุปได้ว่าอัลอิญมะอฺไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาปัจจุบัน เป็นเพราะสาเหตุ
1.บรรดานักปราชญ์และอูลามะฮฺไม่ได้อยู่ ณ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่สะดวกต่อการรวบรวม ซึ่งเป็นยากที่ จะค้นพบบรรดานักปราชญ์เหล่านี้ และเป็นการยากที่จะทราบถึงความคิดเห็นของพวกเขา
2. ไม่สามารถรู้เลยว่าบรรดาอูลามะฮฺและผู้รู้ในปัจจุบันมีความรู้และวิทยฐานะอยู่ในระดับมุจตาฮิด ที่สามารถออกความคิดเห็นที่เป็นข้อกฎหมาย  เพราะมีผู้รู้บางท่านอ้างตนเองเป็น มุจตาฮิด ทั้งๆที่ไมใช่  และการ ที่จะเป็นอิจญมะอฺนั้นต้องเห็นพ้องของบรรดามุจตาฮิด ทั้งหมดเลย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นิติธรรมอิสลาม ( Qiyas)

การลงโทษนักเรียนด้วยการตีตามทัศนะของอิสลาม